คุณมาลินียังอธิบายอีกว่า เครื่องจักรเลื่อยไม้ชิ้นนี้นำเข้ามาจากประเทศเยอร์มนี นอกจากนี้ ท่านยังมีส่วนสายพานลำเลียงไม้ ที่ใช้ที่ต่อเข้ากับเครื่องจักรที่เป็นประติมากรรมที่เห็นอยู่นี้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนั้นเองได้ตั้งแสดงไว้อยู่ภายในลานจอดรถของโรงแรมอีกด้วย
หากมองประติมากรรมชิ้นนี้ในแง่ของรูปแบบศิลปกรรมตะวันตก ก็สามารถมองได้ว่าประติมากรรมนี้มีรูปแบบในแนวของลัทธิ Futurism อย่างชัดเจน ศิลปะลัทธิ Futurism นั้นมีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีลักษณะเด่นตรงที่การแสดงถึงอานุภาพ ความแข็งแกร่งของนวัตกรรม พลังงานของเครื่องจักรกล และการเคลื่อนไหว ที่ลักษณะของศิลปะลัทธินี้มีรูปแบบดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการต่อต้านรูปแบบลักษณะศิลปกรรมยุคโบราณที่ดูเชยและล้าสมัย
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ได้เรียบเรียงความหมาย ประวัติ และคำจำกัดความของศิลปะลัทธิ Futurism ไว้ว่า
“Futurism เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะลัทธิหนึ่ง ปกติแล้วในวงการศิลปะจะไม่แปลคำนี้เป็นภาษาไทย คงใช้ในรูปทับศัพท์ว่าฟิวเจอร์ริสม์" โดยขบวนการเคลื่อนไหวนี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในอิตาลี ราวช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 ส่วนมากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มศิลปินอิตาเลียน แม้ว่าจะมีขบวนการทางศิลปะในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในรัสเซีย อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ก็ตาม นักเขียนอิตาเลียนนาม Filippo Tommaso Marinetti ถือเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้มีอิทธิพลต่อลัทธิฟิวเจอร์ริสม์ โดยเริ่มต้นขบวนการด้วยแถลงการณ์ Futurist Manifesto ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1909 (นับถึง พ.ศ.นี้ 2009 ก็ครบ 100 ปีพอดี) ใน La gazzetta dell' Emilia, เป็นบทความชิ้นหนึ่งที่ต่อมาได้รับการเผยแพร่ซ้ำในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Figaro วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1909. ในแถลงการณ์ฉบับนี้ Marinetti ได้แสดงถึงความไม่เต็มใจอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความเก่า ความโบราณคร่ำคร่าทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนบจารีตทางด้านศิลปะและการเมืองในรูปแบบเก่า ในแถลงการณ์เขาได้เขียนเอาไว้ว่า "เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว อดีตกาลทั้งหลาย เราคือคนหนุ่มสาวและความเข้มแข็ง, ฟิวเจอร์ริสท์". บรรดาฟิวเจอร์ริสท์ชื่นชมกับความเร็ว เทคโนโลยี ความเป็นหนุ่มและความรุนแรง รถยนต์ เครื่องบิน และเมืองอุตสาหกรรม ทั้งหมดคือตัวแทนแห่งชัยชนะด้านเทคโนโลยีของมวลมนุษยชาติเหนือธรรมชาติ และพวกเขาเหล่านี้เป็นนักชาตินิยมที่ร้อนแรง” (จาก http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=8981)
ในขณะเดียวกัน ประติมากรรมชิ้นนี้ยังคงมีลักษณะของศิลปกรรมตะวันตกในลัทธิ Cubism อีกด้วย ลัทธินี้ถือกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสโดยมีผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการความรู้แขนงต่างๆ ทำให้ผู้คนรวมทั้งศิลปินมีความสนใจในด้านวิทยาการมากขึ้น ลัทธินี้มุ่งเน้นในด้านการสร้างรูปจากรูปทรงเรขาคณิต เช่นการแปลงรูปจริงที่เห็นให้กลายเป็นรูปทรงต่างๆ ลัทธินี้มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากรูปทรงทางสถาปัตยกรรมนั้นมีพื้นฐานมาจากรูปทรงเรขาคณิต นอกจากนี้ลัทธิ Cubism ยังมีอิทธิพลต่อการออกแบบกราฟิกในสมัยปัจจุบัน การออกแบบโปสเตอร์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆอีกด้วย
จากการค้นคว้าทาง Internet ทำให้กลุ่มผู้จัดทำได้รับนิยามของลัทธิ Cubism ไว้ดังนี้
“ลัทธิ Cubism หรือบาศกนิยมเป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะอาวองการ์ดในศตวรรษที่ 20 ริเริ่มโดยปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) และจอร์จส์ บราค (Georges Braque) ได้เปลี่ยนรูปโฉมของจิตรกรรมและประติมากรรมสไตล์ยุโรป รวมไปถึงดนตรีและงานเขียนที่เกี่ยวข้อง สาขาแรกของบาศกนิยมเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Analytic Cubism (บาศกนิยมแบบวิเคราะห์)เป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีอิทธิพลรุนแรงและมีความสำคัญอย่างมากในฝรั่งเศส แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักระหว่างค.ศ.1907 และ 1911 ความเคลื่อนไหวในช่วงที่สองนั้นถูกเรียกว่า Synthetic Cubism (บาศกนิยมแบบสังเคราะห์)ได้แพร่กระจายและตื่นตัวจนกระทั่ง ค.ศ. 1919 เมื่อความเคลื่อนไหวของลัทธิเหนือจริงเป็นที่นิยม…
…ในผลงานศิลปะของบาศกนิยมนั้น วัตถุจะถูกทำให้แตกเป็นชิ้น วิเคราะห์ และประกอบกลับขึ้นมาใหม่ในรูปลักษณ์ที่เป็นนามธรรมแทนที่จะแสดงวัตถุให้เห็นจากเพียงแค่มุมมองเดียว จิตรกรนั้นได้ถ่ายทอดวัตถุจากหลายแง่มุมเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างขึ้น บ่อยครั้งนักที่ผืนราบดูเหมือนจะตัดกันในมุมที่เป็นไปโดยบังเอิญ ปราศจากความสอดคล้องของความลึก ส่วนพื้นหลังและผืนราบแทรกเข้าไปในระหว่างกันและกันเพื่อที่จะทำให้เกิดพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนอย่างผิวเผิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะเฉพาะ” (จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ลัทธิบาศกนิยม)
ประติมากรรมชิ้นนี้ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่างๆมากมาย อันเนื่องมาจากการออกแบบให้เป็นรูปทรงเรขาคณิต ดังเช่น แท่งโลหะรูปทรงต่างๆ อาทิ ทรงปริซึมสี่เหลี่ยม ทรงกระบอก ล้อจักรที่มีรูปร่างเป็นวงกลม ฟันเฟืองต่างๆก็ล้วนแต่เป็นผลพวงทางเรขาคณิตทั้งสิ้น ประติมากรรมชิ้นนี้จึงมีรูปทรงเรขาคณิตหลากหลายประเภทประกอบอยู่มากมาย แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาการ ความก้าวหน้าด้านการออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือของมนุษย์ และจากการที่มีส่วนประกอบเป็นรูปทรงเรขาคณิต ทำให้ศิลปะประเภทนี้รวมถึงประติมากรรมชิ้นนี้มีให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย
นอกจากนี้ ประติมากรรมชิ้นนี้ยังแสดงถึงแนวคิดทางศิลปะแบบ Conceptual Art อีกด้วย ศิลปะแบบ Conceptual Art เป็นศิลปะเกี่ยวกับความคิด กล่าวคือใช้ความคิดในงานศิลปะสำคัญกว่ารูปร่างหน้าตาผลงานที่ออกมา
Sol LeWitt หนึ่งในผู้คิดริเริ่ม Conceptual Art กล่าวไว้ว่า
“In conceptual art, the idea or concept is the most important aspect of the work. When an artist uses a conceptual form of art, it means that all of the planning and decisions are made beforehand and the execution is a perfunctory affair. The idea becomes a machine that makes the art.”
“การสร้างศิลปะเชิงแนวคิด ความคิดหรือแนวคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างงาน เมื่อศิลปินใช้รูปลักษณ์ของศิลปะเชิงแนวคิดก็จะหมายความว่าการวางแผนและการตัดสินใจที่จะสร้างงานได้รับการทำไปแล้ว การสร้างงานจริงจึงเป็นการทำอย่างเป็นพิธีเท่านั้น ความคิดกลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างงานศิลปะ” (จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Conceptual_art)
ในเรื่องของ Conceptual Art ยังสามารถจำแนกได้เป็น Performance Art, Land Art, Mixed Art, และ Installation Art ได้อีกด้วย ในส่วนของเครื่องนี้ในมุมมองของกลุ่มผู้เขียน คาดว่าน่าจะเป็น Conceptual Art ประเภท Installation Art หรือศิลปะการจัดวาง ศิลปะการจัดวางนี้หากจะอธิบายตามที่กลุ่มผู้จัดทำเข้าใจ คือศิลปะที่ใช้ความคิดคำนึงถึงสถานที่ที่ใช้จัดงานศิลปะเป็นหลัก ในกรณีของคุณมาลินีนั้น เนื่องจากท่านสร้างโรงแรมมาก่อน และคาดเดาว่าท่านอาจจะเห็นว่าพื้นที่หน้าโรงแรมนั้นโล่งเกินหรือต้องการจะตกแต่งด้วยอะไรให้ดูมีเอกลักษณ์หรือด้วยความคิดหรือเหตุผลใดก็ตามแต่ ท่านจึงได้นำเครื่องจักรชิ้นนี้มาตั้งไว้ แสดงให้เห็นถึงการคำนึงถึงสถานที่ที่จะใช้จัดวาง เป็นการใช้ความคิดเพื่อที่จะจัดวางสิ่งต่างๆ จึงจัดเป็น Installation Art ได้อีกด้วย
หากจะนิยามคำว่า Installation Art เพิ่มเติม ทางกลุ่มผู้จัดทำได้พบคำอธิบายจาก Internet ไว้ว่า
“ในปัจจุบัน การสร้างงานศิลปะอาจไม่จำเป็นจะต้องสร้างสรรค์ผลงานลงบนผ้าใบเสมอไป อาจนำวัสดุที่เหลือใช้ หรือสร้างขึ้นมาใหม่ มาจัดวางบนผนัง พื้น ในหอศิลป์ หรือนอกบริเวณ เช่น สนาม แม่น้ำ ภูเขา เรียกว่า สามารถเล่นกับสถานที่ SPACE พื้นที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ” (จาก http://www.peseenam.com/coffee_board/index.php?action=vthread&forum=1&topic=610)
ปลาย อีกหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมชิ้นนี้ว่า จากที่เขาได้ตระเวนดูเหล่าศิลปกรรมรูปแบบต่างๆ ก็เห็นว่าศิลปกรรมหลายๆสิ่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อได้เดินมาที่หน้าโรงแรมสืบสวัสดิ์แห่งนี้ ได้พบกับประติมากรรมโครงเหล็ก ก็ได้รู้สึกว่ามันดูแตกต่างจากศิลปกรรมชิ้นอื่นๆที่เพิ่งเคยเจอมาก่อนหน้านี้ และเห็นว่ามีชิ้นส่วนต่างๆเช่น ฟันเฟือง ล้อเหล็ก หรือโครงเหล็กต่างๆ ทำให้เป็นจุดเด่นในละแวกนั้น จึงเกิดความประทับใจในตัวผลงาน ซึ่งก็ดูชวนสงสัยให้คิดว่าเจ้าของผลงานต้องการสื่อเรื่องราวอะไรออกมาจากประติมากรรมชิ้นนี้ และเกิดคำถามต่างๆ เมื่อพบกับคุณมาลินีเจ้าของโรงแรม ท่านก็มีใจเมตตาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับแนวคิดการจัดประติมากรรมของท่านและประวัติความเป็นมาของสิ่งที่ท่านนำมาจัดวาง ทำให้ได้รู้เรื่องราวในอดีตมากมายผ่านทางงานศิลปะชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็น อดีตของวงศ์ตระกูลของท่านเจ้าของโรงแรม อดีตของเชียงใหม่ และความเป็นมาของเครื่องจักรนี้ ท้ายที่สุดจึงคิดเห็นว่า ประติมากรรมชิ้นนี้สมควรแก่การเผยแพร่แก่ผู้คนท่านอื่นๆ
กิ๊ฟท์ สมาชิกอีกคนหนึ่ง ก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า เมื่อแรกที่พบเห็น ก็รู้สึกว่าเจ้าประติมากรรมสิ่งนี้ดูยิ่งใหญ่มีพลัง และแสดงความแข็งแกร่ง และได้คิดว่าเจ้าของคงจะเป็นชายวัยกลางคนที่ชื่นชอบเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือกลไกต่างๆ ต้องการที่จะนำมาตั้งแสดงไว้ แต่เมื่อพบว่าประติมากรรมชิ้นนี้ มีประวัติอันยาวนานจากเจ้าของหรือคุณยายมาลินีผู้ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของเครื่องนี้อีกที ก็รู้สึกประทับใจ และทำให้ประติมากรรมนี้ดูยิ่งใหญ่ ทรงคุณค่า ทรงพลังและเปี่ยมด้วยความขลังมากกว่าแรกพบ และรู้สึกประทับใจในตัวของคุณมาลินี เจ้าของประติมากรรมชิ้นนี้ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดหาวิธีจัดวางอุปกรณ์เก่าๆที่ไม่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นจุดเด่นของโรงแรมได้ และผลงานชิ้นนี้ยังชวนให้คิดถึงเจตนารมณ์ของผู้จัดแสดงว่าต้องการจะสื่ออะไรออกมาอีกด้วย จึงเป็นผลงานที่ควรเผยแพร่แก่ผู้ชมท่านอื่นๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น